Macmahon, Patrice (1808-1893)

จอมพล ปาตรีซ มักมาอง (๒๓๕๑-๒๔๓๖)

​​
     จอมพล ปาตรีซ มักมาอง เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ (Third French Republic)* เป็นผู้บัญชาการกองทัพคนสำคัญของฝรั่งเศสในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoléon III ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๐)* และเป็นผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสประจำแอลจีเรีย (Algeria) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๔-๑๘๗๐ มักมาองเคยผ่านการรบครั้งสำคัญหลายครั้ง อาทิ ในสงครามไครเมีย (Crimean War)* ยุทธการที่เมืองมาเจนตา (Battle of Magenta)* ในคาบสมุทรอิตาลี และสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War)* นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้บัญชาการกองทัพของรัฐบาลชั่วคราวที่ทำหน้าที่ปราบปรามการกบฏในเหตุการณ์คอมมูนแห่งปารีส (Commune of Paris)* อย่างไรก็ดี เมื่อเขาเป็นประธานาธิบดีมักมาองกลับไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะขาดประสบการณ์ทางการเมือง
     มักมาองมีชื่อเต็มว่า มารี เอดเม ปาตรีซ โมรีซ เดอ มักมาอง (Marie Edmé Patrice Maurice de Macmahon) เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๐๘ ที่เมืองซูลลี (Sully) ในแคว้นเบอร์กันดี (Burgundy) ในตระกูลขุนนางเก่าแก่ทั้งทางฝ่ายบิดาและมารดาบรรพบุรุษฝ่ายบิดาสืบทอดมาจากตระกูลขุนนางชาวฝรั่งเศส ส่วนบรรพบุรุษฝ่ายมารดาสืบทอดมาจากตระกูลขุนนางชาวไอริชที่ลี้ภัยทางการเมืองมาพำนักในฝรั่งเศสพร้อมกับพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ (James II ค.ศ. ๑๖๘๕-๑๖๘๘) มักมาองเป็นทหารอาชีพ เขาเข้ารับการศึกษาในวิทยาลัยการทหารแซงซีร์ (St. Cyr) ตั้งแต่อายุยังน้อย และสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๘๒๗ ขณะ อายุ ๑๙ ปี จากนั้นเขาก็เข้ารับราชการในกองทัพบกและถูกส่งไปประจำการที่แคว้นแอลจีเรียซึ่งเริ่มตกเป็นเขตยึดครองของฝรั่งเศสในปีเดียวกัน ตลอดเวลากว่า ๑๐ ปี ที่เขาประจำการอยู่นั้นมักมาองปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญและถูกส่งไปรบในสงครามขยายอิทธิพลของฝรั่งเศสในแอลจีเรียเพื่อจัดตั้งอาณานิคมในแอฟริกาเหนือหลายครั้ง ทำให้เขามีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในการรบเป็นอย่างมาก
     อย่างไรก็ดี มักมาองเริ่มมีบทบาทสำคัญในกองทัพหลังจากที่เขากลับมาประจำการในฝรั่งเศสแล้วคือ เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ทรงแต่งตั้งเขาเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ส่งออกไปช่วยอังกฤษและตุรกีรบกับรัสเซียในสงครามไครเมียใน ค.ศ. ๑๘๕๔ มักมาองได้เป็นผู้นำทัพเข้าโจมตีหอคอยมาลาคอฟ (Malakov Tower) อันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของป้อมปราการเซวัสโตโปล (Sevastopol) ฐานทัพเรือสำคัญของรัสเซียในบริเวณทะเลดำได้สำเร็จ ส่งผลให้เขาได้รับการยกย่องและมีชื่อเสียงเลื่องลือ ทั้งยังมีส่วนทำให้กองทัพอังกฤษสามารถเข้ายึดครองเมืองเซวัสโตโปลไว้ได้ในเวลาต่อมา และทำให้อังกฤษ ฝรั่งเศส และตุรกีได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนี้ใน ค.ศ. ๑๘๕๙ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทัพฝรั่งเศสไปช่วยปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (Piedmont-Sardinia) ทำสงครามขับไล่ออสเตรียออกจากดินแดนอิตาลี มักมาองเป็นผู้นำทัพในการยุทธครั้งสำคัญที่เมืองมาเจนตาและประสบชัยชนะครั้งใหญ่เหนือออสเตรีย ทำให้เขาได้รับพระราชทานยศจอมพลและมี บรรดาศักดิ์เป็นดุ๊กแห่งมาเจนตา (Duc de Magenta) เพื่อเป็นรางวัลแห่งความชอบของเขาอย่างสมเกียรติ
     ใน ค.ศ. ๑๘๖๔ เมื่อฝรั่งเศสสถาปนาแอลจีเรียเป็นอาณานิคมแล้ว มักมาองก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการประจำแอลจีเรีย เขาดำรงตำแหน่งนี้อยู่จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๐ ซึ่งเกิดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย เขาจึงถูกเรียกตัวกลับประเทศและได้รับมอบหมายจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพที่ ๑ ของฝรั่งเศส (First Army Corps) ในสงครามครั้งนี้แม้ว่ามักมาองจะได้ใช้ความสามารถในการบัญชาการทัพอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากกองทัพปรัสเซียภายใต้การนำของจอมพล เฮลมุท คาร์ล แบร์นฮาร์ด ฟอน มอลท์เคอ (Helmuth Karl Bernhard von Moltke)* มีความเหนือกว่าทั้งในด้านการจัดองค์กร อาวุธยุทโธปกรณ์ และประสิทธิภาพในการรบ ในทันทีที่ปะทะกับกองทัพปรัสเซียในวันที่ ๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๗๐ กองทัพของมักมาองจึงประสบความพ่ายแพ้ครั้งแรกที่ เมืองเวิร์ธ (Worth) ในแคว้นอัลซาซ (Alsace) และถูกตีรุกไล่เข้ามาจนถึงเมืองชาลง-ซูร์-มาร์น (Châlons-sur- Marne) และต่อมาในวันที่ ๑ กันยายน กองทัพของเขาก็ประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่เมืองเซดอง (Sédan) ส่งผลให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ และกองทัพฝรั่งเศสต้องยอมจำนนต่อกองทัพปรัสเซียในขณะที่ตัวเขาเองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสและถูกจับเป็นเชลยพร้อม กับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ซึ่งต้องทรงประกาศสละราชสมบัติในเดือนกันยายนปีเดียวกันพร้อมกับการสิ้นสุดของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Empire of France)*
     อย่างไรก็ดี หลังการทำสนธิสัญญาสงบศึกกับปรัสเซียในวันที่ ๒๘ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๑ และมีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นที่ เมืองแวร์ซาย (Versailles) โดยมีอาดอลฟ์ ตีเย (Adolphe Thiers)* เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว มักมาองก็ได้รับการปล่อยตัวจากที่คุมขังเนื่องจากเกิดการต่อสู้อย่างรุนแรงในกรุงปารีสระหว่างทหารของกองกำลังป้องกันชาติ (National Guard) และกองทหารรัฐบาลกลางในเหตุการณ์คอมมูนแห่งปารีสซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ ๒๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๗๑ ทำให้ตีเยจำเป็นต้องดำเนินการเจรจากับปรัสเซียขอให้ปล่อยตัวเชลยศึกชาวฝรั่งเศสที่ถูกคุมขังอยู่มาเป็นกำลังในการปราบปรามพวกปฏิวัติ ด้วยเหตุนั้นมักมาองจึงเดินทางจากปรัสเซียกลับประเทศฝรั่งเศสอย่างเร่งด่วนเพื่อมารับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองทัพของรัฐบาลแวร์ซายในการปราบปรามพวกกบฏคอมมูนแห่งปารีสการปราบปรามดำเนินไปอย่างรุนแรงและนองเลือดเป็นเวลาถึง ๒ เดือน ในที่สุด พวกกบฏคอมมูนแห่งปารีสเป็นฝ่ายปราชัย โดยที่พวกกบฏถูกสังหารจับกุมคุมขังและถูกเนรเทศออกจากฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก
     ต่อมามักมาองก็เข้าสู่วงการเมืองของประเทศ ในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๗๓ โดยได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ ต่อจากตีเยซึ่งถูกบีบบังคับให้ลาออกไป เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ามักมาองได้รับเลือกตั้งครั้งนี้โดยได้รับแรงสนับสนุนจากพวกนิยมกษัตริย์เป็นส่วนใหญ่เนื่องจากคนเหล่านี้หวังให้เขาเข้ามาเป็นประธานาธิบดีเพื่อเตรียมการให้ฝรั่งเศสกลับไปมีการปกครองในระบอบกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง แต่มักมาองก็ไม่สามารถทำให้ความหวังดังกล่าวบรรลุผลได้เนื่องจากความยุ่งยากทางการเมืองที่เกิดขึ้นในภายหลัง อย่างไรก็ดี มักมาองก็สามารถผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสาธารณรัฐที่ ๓ ซึ่งประกาศใช้ใน ค.ศ. ๑๘๗๕ ส่วนตัวเขาเองก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๘๗๖ และได้แต่งตั้งจูลซีมง (Jules Simon) เป็นนายกรัฐมนตรี
     ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่นั้นมักมาองต้องเผชิญกับปัญหายุ่งยากทางการเมืองและการบริหารงานหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดที่ กำหนดโชคชะตาทางการเมืองของเขาคือการต่อสู้ระหว่างประธานาธิบดีกับสภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) ใน "วิกฤตการณ์วันที่ ๑๖ พฤษภาคม" (Seize Mai) เนื่องจากมักมาองกดดันให้นายกรัฐมนตรีซีมงซึ่งสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนลาออกเพื่อเปิดทางให้ดุ๊กแห่งบรอกลี (Duc de Broglie) นักการเมืองสายนิยมกษัตริย์ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน การปลดนายกรัฐมนตรีซีมงในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๗๗ นี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากสภาผู้แทนราษฎรโดยทันทีโดยที่สภาได้ประกาศว่าจะไม่ผ่านร่างกฎหมายใด ๆ ที่รัฐบาลใหม่ส่งขึ้นมาเพื่อพิจารณาแม้แต่ฉบับเดียวหากมักมาองไม่ยอมยกเลิกการตัดสินใจดังกล่าว แต่มักมาองกลับยืนยันความชอบธรรมในการตัดสินใจของเขาโดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญที่ให้คณะรัฐบาลต้องอยู่ในความรับผิดชอบของประธานาธิบดี ขณะที่สภาก็ยืนยันถึงการที่คณะรัฐบาลต้องอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐสภาด้วยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดีในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๗๗ มักมาองก็ออกคำสั่งให้ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ผลของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๗๗ กลับกลายเป็นว่าฝ่ายสาธารณรัฐนิยมได้รับชัยชนะเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งยังกดดันให้มักมาองล้มเลิกความตั้งใจเดิมเสียมิฉะนั้นเขาจะต้องลาออกไป ในที่สุดมักมาองก็เป็นฝ่ายแพ้โดยแต่งตั้งจูลดูโฟเร (Jules Dufauré) นักการเมืองสายสาธารณรัฐนิยมเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๗๗
     การประเมินสถานการณ์ทางการเมืองที่ผิดพลาดของมักมาองในกรณีวิกฤตการณ์วันที่ ๑๖ พฤษภาคมนี้ทำให้ประธานาธิบดีเริ่มถูกลดบทบาทลง ทั้งยังทำให้นักการเมืองสายสาธารณรัฐนิยมมีความเป็นปึกแผ่นมากขึ้น ยิ่งกว่านั้นผลของการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๗๙ ยังปรากฏว่าพวกสาธารณรัฐนิยมได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นเสียงข้างมากในวุฒิสภาแทนที่พวกนิยมกษัตริย์ ฉะนั้นมักมาองจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๗๙ นั้นเอง
     จอมพล มารี เอดเม ปาตรีซ โมรีซ เดอ มักมาองถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงปารีสในวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ ขณะมีอายุ ๘๕ ป



คำตั้ง
Macmahon, Patrice
คำเทียบ
จอมพล ปาตรีซ มักมาอง
คำสำคัญ
- บรอกลี, ดุ๊กแห่ง
- วิกฤตการณ์วันที่ ๑๖ พฤษภาคม
- ซีมง, จูล
- ดูโฟเร, จูล
- เวิร์ท, เมือง
- แวร์ซาย, เมือง
- อัลซาซ, แคว้น
- มาลาคอฟ, หอคอย
- มาเจนตา, ดุ๊กแห่ง
- ซูลลี, เมือง
- คอมมูนแห่งปารีส
- เบอร์กันดี, แคว้น
- นโปเลียนที่ ๓, จักรพรรดิ
- มักมาอง, ปาตรีซ
- มักมาอง, มารี เอดเม ปาตรีซ โมรีซ เดอ
- ยุทธการที่เมืองมาเจนตา
- สงครามไครเมีย
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- แอลจีเรีย
- สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓
- เจมส์ที่ ๒, พระเจ้า
- ชาลง-ซูร์-มาร์น, เมือง
- เซดอง, เมือง
- เซวัสโตโปล, ป้อมปราการ
- ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย
- ตีเย, อาดอลฟ์
- ฝรั่งเศสที่ ๒, จักรวรรดิ
- มอลท์เคอ, เฮลมุท คาร์ล แบร์นฮาร์ด ฟอน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1808-1893
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๕๑-๒๔๓๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf